informationnews

ข่าวประชาสัมพันธ์

menuinfonews 07

สรุปการสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ณ จังหวัด นครสวรรค์

      การสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1  เป็นขั้นตอนตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพ (Public Scoping)  ค.1 เพื่อชี้แจงข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์โครงการ ขอบเขตของการดำเนินงาน พื้นที่ศึกษา และลักษณะโครงการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อแนวทาง/ขั้นตอนการศึกษาฯ รวมทั้งเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นห่วงกังวล และแนวทางในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเพื่อให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นไปอย่างครบถ้วน


 

 

 ขั้นตอนการดำเนินการจัดสัมมนา

  1.  พิธีเปิดการสัมมนา จัดขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2556 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ ห้องฟอรั่ม บอลรูม โรงแรมพาราดิโซ เจเค ดีไซน์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายสมดี คชายั่งยืน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในการกล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา และ นายอุดม บุญช่วย ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 สาขาเชียงใหม่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การสัมมนา
  2. การให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา และทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมและที่ตั้งโครงการ โดยนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ และนำขอบเขตและแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยนางวรางคณา เหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และงานด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยนายจักรกริช ธรรมศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนช่วงที่สองเป็นการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่อขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  3. การแสดงความคิดเห็นและการตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมการสัมมนา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อขอบเขตการศึกษาความเหมาะสม รายละเอียดโครงการ และประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งมีวิทยากรหลักที่ทำหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการและคำถามถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย โดยนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ นางวรางคณา เหรียญทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม นายธเนศ บำรุงชีพ รองผู้จัดการโครงการและผู้ดำเนินรายการเพื่อคัดกรองคำถามโดยนายจักรกริช ธรรมศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
  4. การสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าร่วมการสัมมนา การสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะดำเนินการโดยวิธีการแจกแบบสอบถามให้ผู้เข้าร่วมสัมมนากรอกแสดงความคิดเห็นและส่งคืนให้กับเจ้าหน้าที่เมื่อสิ้นสุดการสัมมนา

 

สรุปผลการสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็น
     การสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2556 เวลา 08.30 ถึงเวลา 15.00 น. ณ ห้องฟอรั่ม บอลรูม โรงแรมพาราดิโซ เจเค ดีไซน์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ การสัมมนาครั้งนี้ ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานระดับจังหวัด / อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในพื้นที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้แทนหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินโครงการ รวม 3 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร และ ชัยนาท รวมผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 159 คน



ในส่วนการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมการสัมมนา สามารถสรุปได้ดังนี้
ด้านวิศวกรรม
1) ควรมีการออกแบบประตูระบายน้ำให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีขนาดเพียงพอในการระบายน้ำ โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลาก
2) ควรออกแบบประตูแบบบานเลื่อน ให้เรือผ่านเข้าออกได้เร็วขึ้น เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้า รวมทั้งควรออกแบบเรือที่ขนส่งตู้คอนเทรนเนอร์ได้
3) ภายหลังจากเขื่อนยกระดับได้ทดน้ำเก็บไว้ อาจส่งผลกระทบต่อการปล่อยน้ำจากท่อระบายน้ำของเทศบาล หรือน้ำที่มาจากภาคเกษตรหรือไม่
4) บริเวณคุ้งน้ำมีการขยายคุ้มน้ำในบางจุดที่ไม่เพียงพอในการเดินเรือหรือไม่ ควรให้ข้อมูลตำแหน่งที่ชัดเจน

ด้านเศรษฐศาสตร์
1) ควรมีการเปรียบเทียบระยะเวลาระหว่างการขนส่งทางน้ำกับการขนส่งทางบก พร้อมต้นทุนการขนส่ง
2) การขนส่งทางน้ำใช้ขนสินค้าได้ในปริมาณที่มากกว่าการขนส่งทางบก แต่ควรพิจารณาต้นทุนในการขนส่งทางน้ำ เช่น ค่าขนส่ง ค่ายกสินค้าขึ้นลง จะคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ เพราะการขนส่งทางบกจะรวดเร็วและใช้เวลาน้อยกว่า
3) ควรส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ โดยการช่วยเหลือการลดภาษี เช่นเดียวกับผู้ที่ใช้แก๊ซโซฮอล
4) ควรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดโซนนิ่งเขตอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะย้ายมาตั้งโรงงานตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา
5) ถ้ามีการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ จะเกิดคลังสินค้า การทำท่าเรือ อู่ซ่อมเรือ อู่ต่อเรือ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้และโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ สังคม
1) ต้องการทราบจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่มีจำนวนเท่าไหร่ จัดเตรียมพื้นที่อพยพไว้ที่ไหน เพียงพอหรือไม่
2) การจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมีหลักเกณฑ์อย่างไร
3) ประชาชนหมู่ 1 ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 20 หลังคาเรือน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ (อาศัยอยู่ในพื้นที่กรมเจ้าท่า) จะได้รับค่าชดเชยหรือไม่
4) การยกระดับน้ำอาจส่งผลต่อปัญหาการรุกล้ำน้ำเค็มเพิ่มขึ้น
5) บันไดปลาโจน จะใช้ได้หรือไม่เนื่องจากปลาไทยไม่กระโดดน้ำ การออกแบบที่เคยออกแบบไว้ค่อนข้างชัน ขอให้ประสานงานกับทางกรมประมงเพื่อออกแบบความสูงที่เหมาะสม

ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
โครงการนี้เป็นโครงการที่ศึกษามานานแล้ว เป็นการสร้างเขื่อนทดน้ำ ที่มีประโยชน์มหาศาล ควรทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปได้รับทราบทั้งประโยชน์และผลกระทบที่มีต่อประชาชนอย่างเปิดเผย
ด้านการบริหารจัดการโครงการ
1) ควรมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างกรมชลประทานและกรมเจ้าท่า
2) เสนอให้มีการแบ่งผลประโยชน์จากการดำเนินการโครงการต่อชุมชน เช่น กองทุนจากโรงไฟฟ้า กองทุนจากเรือสินค้าผ่านเข้าออก โดยหักรายได้จากจำนวนสินค้าที่ขนส่ง เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งตลอดลำน้ำรัศมี 500 เมตรจากตลิ่งจะใช้สนับสนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น


ความคิดเห็นต่อโครงการ
1) โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า โครงการมาจากประชาชน และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
2) ควรอธิบายโครงการว่าเป็นการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อยกระดับน้ำ ไม่ได้กระทบเหมือนกับการสร้างเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำ หากใช้คำว่าเขื่อน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหรือกลัวได้
3) ขอให้โครงการทำตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ คือ เพื่อการเดินเรือ สำหรับวัตถุประสงค์รองเช่น ผลิตไฟฟ้า แหล่งท่องเที่ยว อาจมีผลต่อค่าใช้จ่ายและพื้นที่ที่ต้องใช้ ดังนั้นควรศึกษาเท่าที่จำเป็นจริงๆ
5) เห็นด้วยกับโครงการ และต้องการเห็นการพัฒนาโครงการอย่างเป็นรูปธรรม