informationnews

ข่าวประชาสัมพันธ์

menuinfonews 07

สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 (เขื่อนล่าง)

     การประชุมกลุ่มย่อยระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 เป็นหนึ่งในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากการสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (Public Scoping) มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์โครงการ ขอบเขตของการดำเนินงาน พื้นที่ศึกษา และลักษณะโครงการ เป็นต้น ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อแนวทาง/ขั้นตอนการศึกษาโครงการฯ (2) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งประเด็นห่วงกังวลต่างๆ ที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ เพื่อให้แนวทางการศึกษาโครงการสอคล้องกับสภาพปัจจุบัน และสภาพปัญหาของประชาชนในพื้นที่ และ (3) เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่
     ดำเนินการจัดประชุมกลุ่มย่อยระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2556 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานราชการในระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษาภายในท้องถิ่น สื่อมวลชนท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป กรมเจ้าท่า และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 139 คน มีขั้นตอนการดำเนินการจัดประชุม ดังนี้
      (1) ประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม โดย นายธรรมนูญ แก้วคำ นายอำเภอพรหมบุรี
      (2) การให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง
           - ช่วงแรกเป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา และทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมและที่ตั้งโครงการ โดยนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ
           - ช่วงที่สองเป็นการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่อความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการ
      (3) การแสดงความคิดเห็นและการตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมการประชุม ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อขอบเขตการศึกษาความเหมาะสม และความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการ และประเด็นข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายเวนคืน ซึ่งมีวิทยากรหลักที่ทำหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการและคำถามถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย โดยนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ นางสาววรางคณา เหรียญทอง นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม (อาวุโส) นายนพดล กรุดนาค นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (อาวุโส) และผู้ดำเนินรายการเพื่อคัดกรองคำถามโดยนายจักรกริช ธรรมศิริผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
      (4) การสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าร่วมการประชุมา ดำเนินการโดยวิธีการแจกแบบสอบถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมกรอกแสดงความคิดเห็นและส่งคืนให้กับเจ้าหน้าที่เมื่อสิ้นสุดการประชุม

สรุปประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการอภปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เขื่อนล่าง สามารถสรุปได้ดังนี้

ด้านการชดเชยและเวนคืนทรัพย์สิน
     1) เสนอพื้นที่จัดสรรอพยพตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งเป็นที่ดินของดร.เถลิง ตั้งอยู่ที่ ม.2 ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี มีพื้นที่มากกว่า 100 ไร่
     2) ขอทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การฃดเชยทรัพย์สิน และการจัดสรรพื้นที่อพยพ
     3) เสนอพื้นที่จัดสรรอพยพควรอยู่ในรัศมีเดิมไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร
     4) ควรมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ตั้งเขื่อน และเผยแพร่แบบเบื้องต้นเขื่อน ให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับทราบและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อขอบเขตพื้นที่ที่จะดำเนินการ
     5) เสนอให้จัดทำป้ายแสดงขอบเขตพื้นที่ที่ตั้งเขื่อนให้ประชาชนได้รับทราบ

ด้านวิศวกรรม
     1) ในการปรับปรุงสะพานพรหมบุรี ควรแจ้งแผนการดำเนินการให้ประชาชนรับทราบ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทาง
     2) ควรแสดงตำแหน่งระดับน้ำที่จะสูงขึ้นภายหลังจากการยกระดับน้ำแล้ว
     3) ควรออกแบบและจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในอนาคต

ด้านสิ่งแวดล้อม
     ควรศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดลำน้ำ ซึ่งที่ปรึกษาได้มีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ตั้งโครงการในรัศมี 5 กิโลเมตร และศึกษาตลอดลำน้ำในรัศมีข้างละ 500 เมตร

 

downdam