informationnews

ข่าวประชาสัมพันธ์

menuinfonews 07

สรุปการสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ณ จังหวัด สิงห์บุรี

การสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เป็นขั้นตอนตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพ (Public Scoping) ค.1 เพื่อชี้แจงข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์โครงการ ขอบเขตของการดำเนินงาน พื้นที่ศึกษา และลักษณะโครงการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อแนวทาง/ขั้นตอนการศึกษาฯ รวมทั้งเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นห่วงกังวล และแนวทางในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเพื่อให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นไปอย่างครบถ้วน

public-c1-002

ขั้นตอนการดำเนินการจัดสัมมนา
(1) พิธีเปิดการสัมมนา จัดขึ้น ในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 เวลา 08.30 – 15.00 น. ณ ห้องโสมชา โรงแรมไชยแสงพาเลส อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานในการกล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา และ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2 สาขาอยุธยา (รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางน้ำ กระทรวงคมนาคม) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การสัมมนา
(2) การให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการนำเสนอรายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษา และทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมและที่ตั้งโครงการ โดยนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ และนำขอบเขตและแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยนางสาวชลิดา ประดิษฐ์กุล ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และงานด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยนายจักรกริช ธรรมศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนช่วงที่สองเป็นการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่อขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
(3) การแสดงความคิดเห็นและการตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมการสัมมนา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อขอบเขตการศึกษาความเหมาะสม รายละเอียดโครงการ และประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งมีวิทยากรหลักที่ทำหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการและคำถามถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย โดยนายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ นางสาวชลิดา ประดิษฐ์กุล ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ดำเนินรายการเพื่อคัดกรองคำถามโดยนายจักรกริช ธรรมศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
(4) การสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าร่วมการสัมมนา การสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะดำเนินการโดยวิธีการแจกแบบสอบถามให้ผู้เข้าร่วมสัมมนากรอกแสดงความคิดเห็นและส่งคืนให้กับเจ้าหน้าที่เมื่อสิ้นสุดการสัมมนา

สรุปผลการสัมมนาและการรับฟังความคิดเห็น
     การสัมมนาระดับจังหวัดเพื่อรับรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 เวลา 08.30 ถึงเวลา 15.00 น. ณ ห้องโสมชา โรงแรมไชยแสงพาเลส อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี การสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานระดับจังหวัด /อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในพื้นที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ผู้แทนหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินโครงการ รวม 8 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุยา ปทุมธานี นนทบุรี และ สมุทรปราการ รวมผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 155 คน




ในส่วนการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมการสัมมนา สามารถสรุปได้ดังนี้
ด้านวิศวกรรม
1) ขอให้แสดงเครื่องหมายถึงระดับน้ำที่สูงขึ้นหากมีการยกระดับน้ำแล้ว ในบริเวณเสาสะพาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตำแหน่งระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างถูกต้อง
2) ควรมีระบบติดตามคาดการณ์น้ำและเตือนภัยปริมาณน้ำ และมีการฝึกเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าในการติดตามปริมาณน้ำให้มีความชำนาญ
3) ควรออกแบบช่องทางการเดินเรือที่เหมาะสม และศึกษาบทเรียนจากการเกิดอุบัติภัยทางเรือจากกรณีอื่น
4) ควรออกแบบเขื่อนยกระดับให้มีเอกลักษณ์ เพื่อพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เช่น กรณีศึกษาจากการสร้างเขื่อนที่ประเทศเกาหลี ที่มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบแบบครบวงจร ทั้งการจัด landscape สร้างศูนย์จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สร้างพิพิธภัณฑ์ จุดถ่ายรูปเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น

ด้านเศรษฐศาสตร์
การขนส่งสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพียงระยะสั้นแค่อำเภอปากโมก จังหวัดอยุธยา เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการอยากเห็นโครงการนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนการขนส่งสูง และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการขนส่งสินค้าอื่น ๆ พบว่า การขนส่งทางเรือจะช่วยประหยัดต้นทุนน้ำมัน ช่วยลดงบประมาณในการซ่อมแซมปรับปรุงถนน และช่วยลดอุบัติเหตุจากท้องถนน

ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ สังคม
1) ในการก่อสร้างโครงการจะต้องมีการปรับปรุงสะพานพรหมบุรี ควรประสานทางจังหวัดเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทาง
2) ควรศึกษาการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ เช่น ความเค็มที่เพิ่มขึ้น การรุกล้ำของน้ำเค็ม
3) บันไดปลาโจน ปลาบางชนิดอาจไม่สามารถกระโจนได้ เสนอให้มีมาตรการลดผลกระทบจากนิเวศที่เปลี่ยนแปลงโดยการปล่อยพันธุ์ปลา เพื่อเพิ่มปริมาณปลา และควรปล่อยต่อเนื่องเป็นประจำในทุกวันพระ
4) การเดินเรืออาจจะส่งผลกระทบด้านเสียง ฝุ่นละออง ควรมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานเรือเดินสินค้า
5) ในพื้นที่ประสบปัญหาพยาธิใบไม้ในตับ ที่เกิดจากการรับประทานปลาสุกๆดิบๆ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขในการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว
6) ช่วงก่อสร้างโครงการ อาจเกิดอุบัติโรคใหม่ จากแรงงานต่างด้าว และจากการสัญจรเรือ อาจมาจากคนต่างถิ่นเข้ามาพักแรมในพื้นที่
7) เมื่อมีการสัญจรทางน้ำเพิ่มมากขึ้น ควรมีมาตรการหรือกฎหมายควบคุมการถ่ายของเสียลงในแม่น้ำ เช่น น้ำมันเครื่อง สีกันสนิม น้ำมันเครื่อง

ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ควรมีการประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้น และควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ด้านการบริหารจัดการโครงการ
ควรมีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ความคิดเห็นต่อโครงการ
1) ยินดีและอยากจะเห็นโครงการ และเสนอให้ชื่อโครงการควรเป็น Log site แทน Dam เนื่องจากเป็นฝายทดน้ำ
2) พื้นที่ให้การสนับสนุน แต่มีความกังวลเรื่องชดเชยและเวนคืนทรัพย์สิน
3) ในบริเวณที่ตั้งเขื่อนยกระดับ เสนอให้มีการตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP และพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นสวนหย่อมและสถานที่ออกกำลังกาย และให้ชุมชนในพื้นที่โดยรอบที่ตั้งโครงการสามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคได้