about

เกี่ยวกับโครงการ

about 01

about 02

about 03

about 04

about 05

about 06

about 07

ความเป็นมาและเหตุผลความจำเป็น

     สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2525 กรมเจ้าท่าได้เริ่มทำการศึกษาโครงการพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ และเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 แต่ประสบปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยในฤดูแล้งเนื่องจากภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำไม่เพียงพอในการเดินเรือ


     อย่างไรก็ตามการพัฒนาการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวม คือมีผลให้ค่าขนส่ง ถูกลงเนื่องจากขนส่งได้คราวละมากๆ ทำให้สินค้ามีราคาต่ำ ประหยัดน้ำมัน และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยจะสามารถส่งสินค้าออกไปยังท่าเรือชายฝั่งทะเลได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ลดการจราจรคับคั่งบริเวณภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร นอกจากประโยชน์ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำแล้วยังสามารถกักเก็บน้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และการอุปโภคบริโภคได้ด้วย


    ดังนั้นในปี พ.ศ.2540 กรมเจ้าท่าจึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านแล้วเสร็จ โดยได้เสนอแนะให้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและอาคาร ได้เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อนดำเนินโครงการ กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้ชะลอโครงการไว้ก่อนเนื่องจากขณะนั้นสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและงบประมาณมีจำกัด


    ในปี 2545 มีการสัมมนาเพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา (ภายใต้โครงการฟื้นฟูการคมนาคมทางน้ำ) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ประชุมยังเห็นว่าการดำเนินการพัฒนาเส้นทางการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นประโยชน์และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขนส่งทางน้ำเพื่อการส่งออกที่ช่วยลดต้นทุนสินค้าและสามารถส่งไปขายยังต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น


    และในปี 2551 กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างอาคารทางชลศาสตร์ (เขื่อนยกระดับน้ำ) เพื่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่านโดยศึกษารายละเอียดและเสนอแนะ เพื่อพัฒนา ปรับปรุง และขยายขีดความสามารถในการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน โดยเพิ่มค่าความลึกน้ำต่ำสุดเพื่อการเดินเรือ (Least Available Depth, LAD) ให้เรือกินน้ำลึกไม่เกิน 3 เมตร สามารถแล่นใช้งานได้ตลอดทั้งปี ตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์และต่อเนื่องไปตามแม่น้ำน่าน จนถึงอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร รวมระยะทางตามลำน้ำทั้งสิ้นประมาณ 477 กิโลเมตร โดยเสนอวิธีการหลักเพื่อพัฒนาเพิ่มค่าความลึกน้ำต่ำสุดในพื้นที่โครงการที่เหมาะสม คือ การก่อสร้างเขื่อนยกระดับ ลักษณะบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนต้องเป็นบริเวณที่ลำน้ำมีความโค้งพอที่จะขุดคลองลัด (Cut off) เพื่อประโยชน์ในการก่อสร้างหัวเขื่อนบนบก ซึ่งหากก่อสร้างในแม่น้ำจะทำได้ยากและมีราคาค่าก่อสร้างสูง จากการพิจารณาความเหมาะสมที่ตั้งเขื่อนยกระดับ พบว่า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ จำเป็นต้องก่อสร้างเขื่อนยกระดับจำนวน 2 เขื่อน เขื่อนบนตั้งอยู่ที่ ต.น้ำทรง อ.พยุหะศีรี จ.นครสวรรค์ และ เขื่อนล่าง ตั้งอยู่ที่ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี


     จากผลการศึกษาของกรมฯ เมื่อปี พ.ศ.2551 พื้นที่ที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ที่ที่ปรึกษาฯ ได้เสนอแนะให้ก่อสร้างเขื่อนเพื่อยกระดับน้ำฯ ที่บริเวณพื้นที่ตัดศอกซึ่งเป็นการย่นระยะทางและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินเรือ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับการก่อสร้างเขื่อนชัยนาท แต่มีประตูระบายน้ำเพื่อการเดินเรือ โดยเขื่อนตัวล่างที่ ต.บ้านพระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และเขื่อนตัวบนที่ ต.น้ำทรง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งในปัจจุบันสภาพการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปทั้งสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพภูมิอากาศแปรปรวนสภาวะโลกร้อน ฤดูการต่างๆ เกิดเหตุการณ์วิกฤตมากขึ้น เกิดอุทกภัยและภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี อีกทั้งยังมีปัญหาในการเดินเรืออันเนื่องมาจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีช่องความกว้างของระดับน้ำกับสะพานไม่เพียงพอที่เรือเบาจะแล่นผ่านได้ รวมทั้งปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างบูรณาการ ดังนั้น กรมฯ จึงมีความประสงค์ที่จะว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาทบทวนความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด โดยมีการบูรณาการกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการสำรวจออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างเขื่อนยกระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่านเพื่อการเดินเรือ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และการขนส่งเชื่อมโยงบริเวณหลังท่าหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าอันจะมีผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าต่ำลง ตลอดจนเสนอแนะรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิผลและบูรณาการร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน