informationnews

ข่าวประชาสัมพันธ์

menuinfonews 07

สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อยระดับพื้นที่ จ.พิจิตร

การประชุมกลุ่มย่อยระดับพื้นที่ ครั้งที่ 3 เพื่อรายงานความก้าวหน้าผลการศึกษาของโครงการ และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งประเด็นข้อห่วงกังวลที่มีต่อการดำเนินการโครงการ ให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่โครงการ โดยดำเนินการจัดประชุมเมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน 2557 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โดยมีกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานราชการในระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป กรมเจ้าท่า และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 66 คน มีขั้นตอนการดำเนินการจัดประชุม ดังนี้
           (1) ประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม โดย นายบูรณะ แสงระวีวิสิฐ นายกเทศมนตรีเมืองตะพานหิน
           (2) การให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา แบ่งออกเป็น 2 ช่วง
                - ช่วงแรกเป็นการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการ โดย นายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ นายนิวรรณ รังษีสว่าง ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม
                - ช่วงที่สองเป็นการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่อความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการ
           (3) การแสดงความคิดเห็นและการตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมการประชุม ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการ และประเด็นข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายเวนคืน ซึ่งมีวิทยากรหลักที่ทำหน้าที่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการและคำถามถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย โดย นายวิรัช องค์ประเสริฐ ผู้จัดการโครงการ นายนิวรรณ รังษีสว่าง นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้ดำเนินรายการเพื่อคัดกรองคำถามโดยนายจักรกริช ธรรมศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
          (4) การสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าร่วมการประชุม ดำเนินการโดยวิธีการแจกแบบสอบถามให้ผู้เข้าร่วมประชุมกรอกแสดงความคิดเห็นและส่งคืนให้กับเจ้าหน้าที่เมื่อสิ้นสุดการประชุม

สรุปประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการอภปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เขื่อนบน สามารถสรุปได้ดังนี้

ด้านการชดเชยและเวนคืนทรัพย์สิน
ไม่มีความกังวลในเรื่องการชดเชยทรัพย์สินเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีการเวนคืนแล้ว


ด้านวิศวกรรม
     1) เสนอขอให้พื้นที่ด้านเหนือท่าเรือเพื่อก่อสร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ทั้งนี้ในการออกแบบอาจต้องยกระดับเพื่อเลี่ยงบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ออกแบบไว้
     2) คลื่นที่เกิดจากการเดินเรืออาจส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะตลิ่ง ควรมีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบดังกล่าว

ด้านสิ่งแวดล้อม
     1) ผลกระทบจากเสียงเรือ คาดว่าได้รับผลกระทบระดับน้อย เพราะในอดีตอำเภอตะพานหินเป็นท่าเรือที่มีเรือเข้าท่ามาก ซึ่งมีความเคยชินในเสียงดังจากเรือและแตรเรือ
     2) จะมีผลต่อปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่และจะส่งผลกระทบต่อการรุกล้ำน้ำเค็มหรือไม่


ด้านเศรษฐศาสตร์

     1) จากอดีตสินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือที่ตะพานหินจะเป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าวไร่ ข้าวเปลือกและถั่วเขียว แต่ในปัจจุบันไม่มีเรือที่ค้าขายคึกคักเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากใช้เวลาในการขนส่งนาน และมีค่าใช้จ่ายตอนถ่ายสินค้า หากจะมีการพัฒนาเขื่อนยกระดับและปรับปรุงท่าเรือตะพานหิน คาดว่าสินค้าที่จะหันมาใช้มากคือ น้ำมัน
     2) ขอสนับสนุน หากสามารถพัฒนาเขื่อนยกระดับและปรับปรุงท่าเรือได้จริง จะเป็นประโยชน์กับท้องถิ่น ทำให้การค้าขายในอำเภอตะพานหินกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

 

groupmeeting-pichit